เมื่อหลายปีก่อน
ถ้าผมไม่ตัดสินใจ ลงทุนอสังหา ลงทุนในคอนโดมิเนียม
และซื้อห้องชุด “ขนาดเล็ก” เป็นห้องแรกในวันนั้น
ผมคงเป็นพนักงานออฟฟิตธรรมดา เป็นมนุษย์เงินเดือน
ที่เฝ้ารอวันศุกร์ วันสุขแห่งชาติ
และเบื่อหน่ายกับเช้าวันจันทร์ จนถึงทุกวันนี้
ช่วงที่ผมกำลังหาแนวทาง ศึกษาการลงทุน
หรือแม้แต่คนที่เริ่มต้นจะลงทุนอสังหาในปัจจุบันนี้
คำถามยอดฮิตของมือใหม่หัดลงทุน จะหนี้ไม่พ้น
– เริ่มต้นลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ยังไง ?
– ลงทุนอสังหา ด้วยเงิน 0 บาท ลงทุนอสังหา ไม่ต้องใช้เงิน มันจริงเหรอ ?
– ธุรกิจอสังหา เริ่มต้นอย่างไร และ อื่นๆ
ถามคนรอบตัวแล้วไม่มีคำตอบ หาคำตอบจากกูเกิล พิมพ์เลยคำว่า “ลงทุนอสังหา pantip”
เข้าไปอ่านๆ สักหน้าสองหน้า เฮ้อ… ไปเผือกเรื่องอื่นดีกว่า ^^ คุณเป็นแบบนี้บ้างไหมครับ
ผมคนหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้วก็เป็นแบบนั้น ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถหาคำตอบได้จากการค้นหาในอินเตอร์เน็ต
แน่นอนข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ก็จะนำพาคุณแวะข้างทางได้เสมอ สำหรับใครที่มีคำถามเหล่านี้ตอนนี้
ผมมีคำถามกลับ ให้คุณได้ค้นพบตัวคุณจริงๆ ว่า…
คุณถามคำถามถามเหล่านี้ มาจากอะไร ?
คุณ “อยากเป็น” นักลงทุนอสังหา
หรือ คุณแค่ “อยากมี” อสังหาริมทรัพย์ ?
เมื่อหลายปีก่อน ผมซื้อคอนโดครั้งแรก แบบว่า “อยากมี” คอนโดสักห้องไว้ลงทุน หลังจากศึกษาเรียนรู้จากหลากหลายโครงการ จนได้รู้ว่า อะไรที่เรายังไม่รู้บ้าง คำศัพท์ต่างๆ ความหมายของหลายๆ คำที่ไม่คุ้นหู เมื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็มั่นใจเลยครับ ว่าเราตัดสินใจไม่พลาดแน่ในการเลือกซื้อโครงการนี้ ด้วยทำเลและศักยภาพในอนาคต จะซื้อถือเพื่อปล่อยเช่า หรือจะขายทำกำไรในวันข้างหน้า มีทางออกหมด แล้วจะรออะไรล่ะครับ…
เอ่อ แล้วจะซื้อห้องขนาดใหญ่ หรือ เล็กดี? “-_-
เอาไงดีล่ะครับ ก็หาคำตอบดีๆ ให้เราตัดสินใจได้ซิครับ ถามพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท คนรอบตัว กลับพบคำตอบว่า… จะดีเหรอ ห้องนึงหลายล้านนะ เสี่ยงเกินตัวไปหรือเปล่า มีเงินเก็บพอซื้อเหรอ คิดดีๆ นะ ขายไม่ได้ขึ้นมา หาผู้เช่าไม่ได้ งานเข้านะ อืมม…
คำถามคือ ถ้าคุณ “อยากมี” เจอคำตอบจากคนรอบตัวแบบนี้ คุณจะไปต่อหรือจะหยุดความอยากมี แล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบว่า สักวันนึง! เราจะมีคอนโดให้ได้ โชคดีที่ผมรู้ตัวว่า “อยากเป็น” มากกว่า “อยากมี” อยากเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ไว้จะเล่าให้ฟังว่า คำถามอะไร ที่เปลี่ยนชีวิตมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ให้เป็นนักลงทุนอสังหาในวันนี้
ความ “อยากเป็น” ของผม ทำให้ลงมือศึกษาแนวคิด มุมมอง ประสบการณ์ จากนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบไม่มีทรัพย์อยู่ในมือเลยสักที่ 555 จนความรู้มากพอแต่ขาดทักษะการลงทุน เล่นจริง เจ็บจริง เมื่อทัศนคติความมั่นใจพร้อมขนาดนี้ จะรออะไร จัดไปหนึ่งห้อง เริ่มจากห้องขนาดเล็กสุดในโครงการเลย 555 (แหม เกริ่นมาซะ ไฟลุกท่วมจอขนาดนี้ เอาแค่ห้องเล็กสุด ปัดโธ่)
ถามว่าวันนั้น ผมรู้มั้ยว่า ห้องเล็ก มันดียังไง ?
ตอบแบบไม่อาย ไม่รู้ครับ รู้แค่ว่า ไม่เอาทิศตะวันตก
ไม่เอาติดลิฟต์ ไม่ติดห้องขยะ จะไกลหรือใกล้ลิฟต์หน่อยก็ได้
ชั้นไหนเหรอ เอาเลขที่ชอบดีกว่า 555
มารู้ทีหลังว่า ตามหลักการแล้ว
ยิ่งขนาดอสังหาเล็กเท่าไหร่ ผลตอบแทนต่อพื้นที่ จะได้มากกว่าขนาดใหญ่
ยังไงล่ะครับ อธิบายเพิ่มอย่างด่วนๆ 🙂
สมมุติว่า โครงการสีน้ำเงินย่านอ่อนนุช ทั้งโครงการมีห้องชุดพักอาศัย 3 ขนาดให้เลือก คือ 22.5 ตร.ม. 26 ตร.ม. และ 45 ตร.ม. โดยคุณรู้มาว่า หลังจากโครงการสร้างเสร็จ คุณสามารถปล่อยเช่าได้ 6,500 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นแบบนี้ ซื้อห้องขนาดใหญ่สุดเลยดีกว่า 45 ตร.ม. น่าจะปล่อยเช่าได้ 13,000 บาทต่อเดือน ในความเป็นจริงคุณอาจจะปล่อยเช่าได้แค่ 10,000 – 12,000 บาท แบบนี้แสดงว่า “ยิ่งพื้นที่เล็ก ยิ่งได้ราคาสูงกว่า” ราคาค่าเช่าไม่ได้แปรผันตามขนาดของพื้นที่ ตรงนี้ไม่นับองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะทำให้ได้ค่าเช่าสูงๆ เช่น การเพิ่มคุณค่าให้กับห้อง ผ่านการตกแต่งแบบจัดเต็ม ตรงนั้นต้นทุนก็จะเพิ่ม แต่ปล่อยเช่าได้แพงขึ้น คุ้มกับระยะยาวหรือเปล่าต้องคำนวณกันดูครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมได้ยินบ่อยจากเพื่อนๆ ว่า รุ่นพ่อรุ่นแม่เรา เค้าทำกันมานานแล้ว ไปซื้อตึกแถวในย่านแรงงาน มาแบ่งซอยย่อย กั้นห้องให้ได้ผู้เช่ามากขึ้น จะเห็นเลยว่า ตรงกับหลักการที่ว่า “ยิ่งอสังหาเล็กเท่าไร ก็จะได้ผลตอบแทนต่อพื้นที่มากกว่าขนาดใหญ่”
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่า หลักคิดนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ถึงตาคุณแล้วล่ะครับ ว่าจะเอาแนวคิดนี้ไปใช้เป็นหนึ่งในการเลือกลงทุนอสังหา ปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวคิดในการซื้อทรัพย์ขนาดใหญ่มาบริหารจัดสรรพื้นที่ และสร้างรายได้จากพื้นที่ขนาดเล็กได้อย่างไร หรือลงทุนอสังหา มีทรัพย์อยู่ในมือแล้ว อาจจะได้แนวคิดไปปรับใช้ให้สถานะทางการเงินมันคล่องขึ้น ก็แล้วแต่เลยนะครับ ^^
การลงทุนอสังหาริมทรัพย์
ไม่ควรอ้างอิงเฉพาะเพียงกระแสเงินสดเท่านั้น
เพราะการเพิ่มค่าอสังหาริมทรัพย์
ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยด้วยกัน